เลือดแฝงในอุจจาระ

     

        การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระ มีความสำคัญที่จะบ่งบอกปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ เพราะโรคบางโรคจะไม่แสดงอาการ ซึ่งกว่าจะรู้ก็เป็นหนักแล้ว อย่างมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทั้งนี้ การตรวจเลือดแฝงในอุจจาระนั้นเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ปลอดภัย สามารถตรวจได้ทุกปีพร้อมกับการตรวจสุขภาพ จึงเป็นหนึ่งในการตรวจที่ไม่ควรละเลย

 

การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ คืออะไร

การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Occult Blood) คือ การตรวจอุจจาระเพื่อหาเม็ดเลือดแดงที่อาจมีแอบซ่อนอยู่ หรือเป็นการตรวจหาเลือดปริมาณน้อยๆ ที่ปนอยู่ในอุจจาระ (Occult Blood) ที่มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า เนื่องจากปกติแล้วอุจจาระที่เราขับถ่ายทุกวันจะไม่มีเลือดปนอยู่เลย แต่หากมีความผิดปกติก็จะสามารตรวจเจอได้ด้วยวิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งเลือดที่ตรวจพบอาจมาจากทางเดินอาหารส่วนบน (รวมหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น) หรือส่วนล่าง (รวมลำไส้เล็กโดยมาก และลำไส้ใหญ่) ก็ได้

วัตถุประสงค์ในการตรวจ เพื่อตรวจสอบร่างกายของผู้ที่มีสุขภาพเป็นปกติดี โดยยังไม่มีอาการของโรคใดๆ ว่า มีเลือดแฝงออกมาในช่องทางเดินอาหารตั้งแต่ปากไปจนถึงลำไส้ใหญ่ (กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก) ปนมากับอุจจาระบ้างหรือไม่ นำไปสู่การวินิจฉัยคัดกรองโรคต่างๆ อาทิ ลำไส้อักเสบติดเชื้อเฉียบพลัน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เป็นต้น

ตรวจคัดกรองโรคอะไรได้บ้าง

เลือดที่พบในอุจจาระอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุจากภาวะความผิดปกติหรือเกิดจากโรคอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หลอดเลือดแดงที่บริเวณช่องทางเดินอาหารจนถึงลำไส้อาจเกิดอาการบวมและปริแตก โรคลำไส้อักเสบและมีแผลในบางจุด ริดสีดวงทวาร ถุงผนังลำไส้ใหญ่โป่งพอง ติ่งเนื้อและเนื้องอกในลำไส้ใหญ่ และอาจเกิดแผลจากเนื้องอกที่มิใช่มะเร็ง หรือเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมะเร็ง ณ จุดใดๆ ในช่องทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งเพื่อให้ได้มาถึงสาเหตุที่แน่ชัดถึงเลือดที่ตรวจพบในอุจจาระ แพทย์อาจจำเป็นที่จะต้องส่งตรวจโดยวิธีการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ต่อไป

ใครบ้างที่ควรตรวจ

  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 45-50 ปีขึ้นไป
  • ความเสี่ยงมากกว่าปกติ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ในญาติสายตรงที่อายุ 60 ปี หรือน้อยกว่า มีประวัติเป็นติ่งเนื้องอก หรือมะเร็งลำไส้
  • ความเสี่ยงสูง มีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด ซึ่งพบว่า ญาติผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงมาก หรือมีประวัติเป็นโรคลำไส้อักเสบ
  • การตรวจอุจจาระโดยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ควรทำเป็นประจำทุกปีพร้อมกับการตรวจสุขภาพ

การเตรียมตัวก่อนเก็บอุจจาระ

  • ก่อนวันเก็บอุจจาระประมาณ 3 วัน ผู้ตรวจควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางชนิด ได้แก่ เนื้อแดง เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรุงแบบกึ่งดิบ, อาหารที่เกี่ยวกับธาตุเหล็ก เลือดหมู เลือดเป็ด เลือดไก่, ผักและผลไม้ อาทิ บรอกโคลี กะหล่ำดอก หัวไชเท้าแดง แคนตาลูป มะรุม น้ำองุ่น, อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามินซี
  • ผู้ที่รับการตรวจต้องงดรับประทานยาบางชนิด หรือยาแก้อักเสบต่างๆ ก่อนตรวจ 7 วัน
  • ผู้ที่รับประทานวิตามินซี มากกว่า 250 มก ต่อวัน หรือดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว หรือวิตามินที่มีวิตามินซี จะต้องลดยาหรือน้ำผลไม้ดังกล่าว 3 วันก่อนการตรวจ
  • ไม่แนะนำให้ตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ช่วงที่มีเลือดออกของริดสีดวงทวาร
  • งดตรวจในภาวะที่มีอาการหรือโรคบางชนิดเหล่านี้ เช่น ลำไส้ใหญ่บวมอักเสบ โรคกระเพาะอาหารอักเสบ โรคติ่งเนื้ออักเสบในลำไส้ใหญ่ ท้องเสีย ท้องผูก มีอาการเจ็บคออย่างรุนแรง เป็นต้น

การแปลผลการตรวจ

ผลการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระจะแสดงค่าเพียง 2 แบบ คือ

  1. ผลลบ (Negative) คือ ไม่พบเลือดในอุจจาระ (ค่าปกติ)
  2. ผลบวก (Positive) คือ พบเลือดในอุจจาระ (ค่าผิดปกติ)

การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ แม้ว่าตรวจแล้วผลออกมาจะไม่พบเลือด ก็ไม่ได้แปลว่าปลอดภัยจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ 100% หรือโรคในระบบทางเดินอาหารใดๆ แนะนำให้กลับมาคัดกรองอีก 2 ปี หรือควรตรวจเป็นประจำทุกปี และหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์

ขอขอบคุณบทความดีๆจาก :

นพ. สมบุญ รุ่งจิรธนานนท์

    โรงพยาบาลนครธน