สาระน่ารู้

 

   แม้เดือนพฤศจิกายนจะเรียกว่าเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มรูปแบบแล้วก็ตาม แต่บางส่วนของเมืองไทยเรานั้น ยังไม่ได้มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นตามชื่อฤดูเลย แต่สิ่งหนึ่งที่มักมาพร้อมฤดูหนาวด้วยนั่นคือ เชื้อไวรัส และแบคทีเรีย  วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับโรคต่าง ๆ ที่มักพร้อมหน้าหนาวนี้กัน

 1. ไข้หวัด

             เกิดจาก อากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อร่างกายอ่อนแอ เชื้อไวรัสก็เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย

          อาการ ไข้ต่ำ มีน้ำมูก คัดจมูก จาม
          วิธีรักษา หากเป็นไข้หวัดจากเชื้อไวรัส การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำเยอะๆ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ก็สามารถหายเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งยารักษา
2. ไข้หวัดใหญ่
          เกิดจาก เชื้อไวรัส อินฟลูเอ็นซา (influenza virus) ที่มักพบมากในฤดูหนาว
          อาการ มีไข้ปานกลาง ถึง สูง อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อมาก ปวดหัว อาจมีน้ำมูก ไอ
          วิธีรักษา ควรมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม หรือป้องกันโดยการฉีดวัคซีน
3. ปอดบวม หรือ ปอดอักเสบ
          เกิดจาก ที่ปอดของเรามีเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียเข้าไปอยู่ตามถุงลม ทำให้เนื้อปอดบริเวณนั้นไม่สามารถรับออกซิเจนได้ตามปกติ
          อาการ แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก ไอ มีเสมหะ มีไข้สูง มักพบในผู้ป่วยที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจหรือผู้ที่ภูมิคุ้มกันต่ำลง
          วิธีรักษา ควรมาพบแพทย์ เพื่อรับยาปฏิชีวนะและยาลดไข้ ตามความเหมาะสมของอาการ นอกจากนี้การดื่มน้ำเยอะก็ช่วยลดเสมหะได้เช่นกัน
4. โรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า
          เกิดจาก ไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่พบได้ง่ายในฤดูหนาว และ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กอายุ ต่ำกว่า 5 ปี
          อาการ ท้องเสียถ่ายเหลว และบ่อย อาเจียน ปวดท้อง มีไข้ อ่อนเพลีย
          วิธีป้องกัน ในปัจจุบันได้มีวัคซีนป้องกันไวรัสนี้แล้ว โดยให้ทางปากในเด็กเล็ก (ไม่ได้ฉีดเหมือนวัคซีนชนิดอื่นๆ)
5. โรคหัด
          เกิดจาก เชื้อไวรัสรูบีโอรา" (Rubeola virus) มักพบในเด็กเล็กที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันมากกว่าผู้ใหญ่ ติดต่อได้จากการ ไอ จาม น้ำลายของผู้ป่วย มีระยะฟักตัวประมาณ 10-14 วัน
          อาการ มีไข้ ไอมาก ตาแดง น้ำตาไหล มีตุ่มเล็กๆ สีแดงคล้ำขึ้นตามผิวหนัง มีและจะหายไปเอง ภายใน 7 วัน บางรายต่อมน้ำเหลืองหลังใบหูบวม
          วิธีรักษา เนื่องจากโรคหัดไม่ใช่โรคร้ายแรง การรักษาจึงสามารถรักษาตามอาการจนกว่าจะหาย นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนที่สามารถฉีดป้องกันได้ตั้งแต่เด็ก
 
                         ขอบคุณบทความดีๆ จาก 
                        นพ.วีระยุทธ บุญเกียรติเจริญ
              แผนกตรวจสุขภาพ ประจำโรงพยาบาลเปาโลรังสิต